โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คือ โรคทางจิตเวชที่สามารถพบได้บ่อย โดยผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลจะมีความกังวลสูงในหลายสถานการณ์ อีกทั้งอาจควบคุมตัวเองได้ยาก และอาจไม่สามารถจัดการกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้นกลายเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นนาน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียน, การทำงาน หรือการเข้าสังคม และขั้นรุนแรงที่อาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าหรือการคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
โรควิตกกังวล แบบทดสอบ สังเกตได้จากอาการเหล่านี้
โรควิตกกังวลอาจไม่สามารถควบคุมอาการต่างๆ เหล่านี้ได้ หรืออาจควบคุมอาการได้ยาก และเป็นอาการระยะยาวที่มีอาการ 6 เดือนขึ้นไป โดยทั่วไปแล้วมักสังเกตมีอาการได้หลายลักษณะดังนี้
- มีความคิดมากเกินกว่าเหตุ หรือรู้สึกไม่สบายใจเกินความจำเป็น
- มีความรู้สึกกังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ตัว
- มีความรู้สึกกระสับกระส่าย, ตื่นตระหนก และว้าวุ่น
- รู้สึกประหม่า เขินอายมาก
- รู้สึกกลัว และรู้สึกไม่ปลอดภัย
- หงุดหงิดง่าย
- ใจลอยบ่อย และขาดสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หรือหลับยาก
- มีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจ ตัดสินใจในเรื่องง่ายไม่ได้ ตัดสินใจยาก ไม่กล้าตัดสินใจ
- มีความเครียดจนเกิดอาการกล้ามเนื้อตึง หรือมีความรู้สึกปวดกล้ามเนื้อ
- รู้สึกคลื่นไส้, ลำไส้แปรปรวน, ท้องเสีย
- รู้สึกอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย
- มีเหงื่อออกมากผิดปกติ
- มือเท้าเย็นและชา
- ความดันขึ้น
- รู้สึกเจ็บหน้าอก
- ปากแห้ง
นอกจากอาการเหล่านี้แล้ว โรควิตกกังวลยังมีลักษณะอาการเฉพาะที่แบ่งออกตามประเภทของโรค 5 ประเภทอีกด้วยเช่นเดียวกัน
โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD)
โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) ผู้ป่วยมักมีความกังวลเกินเหตุ และมักมีความรู้สึกระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดอันตรายต่างๆ โดยที่ไม่สามารถหยุดคิดเรื่องเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องงาน, เรื่องของการเรียน, เรื่องสุขภาพ, การเงิน, ความปลอดภัย หรือตลอดจนเรื่องเล็กน้อย ที่แม้ว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวแต่ก็ยังไม่สามารถหยุดความคิดเหล่านี้ได้ จนอาจส่งผลกระทบรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โดยความแตกต่างระหว่าง โรควิตกกังวลทั่วไป (GDA) กับโรควิตกกังวลประเภทอื่น ผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปจะมีความรู้สึกกังวลไปหมดทุกเรื่อง ในขณะที่ผู้ป่วยโรควิตกกังวลประเภทอื่นจะมีความกังวลเพียงแค่เฉพาะบางเรื่อง และในบ่อยครั้งผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปมักมีปัญหาด้านอารมณ์อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคกลัวสังคม หรือ โรคซึมเศร้า
โรควิตกกังวล แพนิค (Panic Disorder: PD)
โรคแพนิค (Panic Disorder: PD) หรือ โรคตื่นตระหนก เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้สมองทำการหลั่งสารตื่นตระหนกออกมาทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือมีความวิตกกังวลอย่างไม่ทราบสาเหตุเป็นระยะๆ โดยอาจมีอาการทางกายร่วมด้วย อาทิเช่น ใจสั่น, ใจเต้นเร็ว, รู้สึกเจ็บหน้าอก, เวียนหัว และคลื่นไส้ เป็นต้น โดยอาการโรคแพนิคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันนี้ มักทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้คิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ หรืออาจเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่ภาวะอื่นได้ เช่น การเกิดภาวะซึมเศร้า และการติดสารเสพติด เป็นต้น
โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD)
โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD) ผู้ป่วยจะมีความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการคิดซ้ำไปมาในบางเรื่อง และอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมตอบสนองต่อความคิดเหล่านั้นซ้ำๆ กล่าวคือ การทำสิ่งเดิมซ้ำๆ เพื่อความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นจะไม่มีอะไรผิดพลาด อาทิเช่น การเดินกลับไปดูที่ประตูบ้านซ้ำๆ เนื่องจากกังวลว่าตนเองนั้นทำการล็อคประตูแล้วหรือไม่ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่มักพบได้บ่อยในช่วงวัยทำงาน โดยอาจส่งผลให้เสียเวลาไปกับพฤติกรรมที่ทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่จำเป็น และอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
โรควิตกกังวล โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobia)
โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobia) หรือ “โฟเบีย” คือ โรคที่มีอาการกลัวอย่างมากเกี่ยวกับสิ่งของบางอย่าง, สถานการณ์บางอย่าง หรือกิจกรรมบางอย่าง โดยอาจเกิดขึ้นได้จากการกลัวที่มากกว่าหนึ่งอย่างได้เช่นเดียวกัน โดยโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจงนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 3 ประเภทหลัก
- โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) ผู้ป่วยโรคนี้มักมีความกลัวที่สามารถพบได้ทั่วไป และมักพบได้บ่อย เช่น กลัวงู, กลัวความสูง, กลัวเลือด หรือกลัวความมืด เป็นต้น
- โรคกลัวที่ชุมชน หรือ โรคอะโกราโฟเบีย (Agoraphobia) ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการกลัวการตกอยู่ในสถานที่หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองลำบาก ไม่สามารถหาความช่วยเหลือได้ หรือเป็นที่ที่ทำให้รู้สึกอับอายได้ อาทิเช่น กลัวที่แคบ, กลัวห้องที่ไม่มีหน้าต่าง, กลัวลิฟต์, กลัวการขึ้นเครื่องบิน, กลัวการนั่งด้านในรถตู้ หรือ กลัวที่ที่มีคนแออัด เป็นต้น
- โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social Phobia) ผู้ป่วยโรคนี้มักมีความรู้สึกกลัวหรือกังวลเมื่อคิดว่าตนเองกำลังตกเป็นเป้าสายตา หรือกำลังอยู่ในความสนใจของผู้อื่น อาทิเช่น การพูดรายงานหน้าชั้น, การพูดในที่ประชุม, การทำกิจกรรมในที่สาธารณะ และการพูดผ่านไมโครโฟน เป็นต้น
โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)
โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) หรือ โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต อาทิเช่น การฆาตกรรม, การเกิดสงคราม, การเผชิญหน้ากับภาวะเฉียดตาย และการสูญเสียครอบครัว เป็นต้น โดยทำให้เกิดอาการความกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีก หรือมักที่จะคิดถึงเหตุการณ์เดิมๆ ซ้ำๆ ส่งผลให้เกิดความเครียด ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความบกพร่องเสียหายต่อหน้าที่การงาน และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งผู้ป่วยโรคนี้ยังอาจหาทางออกโดยการใช้สารเสพติด และอาการอาจรุนแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายได้ด้วยเช่นเดียวกัน
แนวทางวิธีการรักษา โรควิตกกังวล แก้ยังไง ?
ในการรักษาโรควิตกกังวลสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรควิตกกังวลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์โดยตรง โดยวิธีการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคที่เป็น ประกอบกับสาเหตุของการเกิดโรควิตกกังวลของแต่ละบุคคล
การรักษาโรควิตกกังวล จิตบำบัด (Psychotherapy)
การบำบัดทางจิตไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาร่วมหรือการไม่ใช้ยาร่วมด้วย จัดเป็นพื้นฐานในการรักษาโรควิตกกังวล โดยรูปการบำบัดอาจแตกต่างกันไปตามอาการของผู้เข้ารับการรักษา โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิดและอารมณ์ของตนเอง สามารถควบคุม รับมือ และจัดการความเครียดหรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
- จิตบำบัดเชิงจิตพลวัต (Psychodynamic psychotherapy)
- การบำบัดทางจิตรูปแบบประคับประคองและระบายถึงปัญหา (Supportive-expressive therapy)
- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive-behavioral therapy)
การรักษาโรควิตกกังวล ด้วยการใช้ยา
การรักษาโรควิตกกังวลด้วยการใช้ยา ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
- ยาระงับความวิตกกังวล ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine: BZD) ซึ่งมักใช้ในโรควิตกกังวลทั่วไป หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับร่วมด้วย อาทิเช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) และ ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam)
- ยารักษาอาการซึมเศร้า ที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวลได้เช่นเดียวกับการรักษาซึมเศร้า เช่น ยากลุ่ม SSRIs
- ยาควบคุมอาการทางกาย ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker) ที่ใช้เมื่อเกิดอาการทางการร่างกาย จากความวิตกกังวล มีอาการ ใจสั่น, มือสั่น เช่น ยาโพรพราโนลอล (Propranolol)
แนวทางการรับมือกับความวิตกกังวล ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง
เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกถึงความวิตกกังวล สามารถรับมือกับอาการได้ด้วยการทำตามวิธีการเหล่านี้
- ถอยห่างออกจากปัญหาเพื่อให้สมองรู้สึกโล่งหรือหยุดพักชั่วคราว ด้วยการเล่นโยคะ ฟังดนตรี ทำสมาธิ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายทุกวันจะช่วยทำให้รู้สึกดีและรักษาสุขภาพไปได้พร้อมๆ กัน
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ที่ทำให้ความวิตกกังวลแย่ลงและกระตุ้นอาการตื่นตระหนก
- หายใจเข้าออกช้าๆ เพื่อสงบจิตใจ
- ปรึกษาแพทย์หรือนักบำบัดเพื่อรับการช่วยเหลือเฉพาะทาง
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/generalized-anxiety-disorder/diagnosis-treatment/drc-20361045
- https://adaa.org/understanding-anxiety/facts-statistics