คันหัวนม คันนม อาการที่อาจบ่งบอกปัญหาสุขภาพ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

อาการ คันหัวนม คันนม คือ หนึ่งในอาการทางผิวหนังที่อาจบ่งบอกปัญหาสุขภาพ เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิเช่น อาการแพ้, โรคผิวหนังอักเสบ, การตั้งครรภ์ และมะเร็งเต้านม เป็นต้น เมื่อไหร่ก็ตามที่สังเกตว่าอาการคันที่เกิดขึ้นมีอาการคันที่รุนแรง มีลักษณะผื่นแดง บริเวณหน้าอกหรือหัวนมมีอาการผิวหนังบวม ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุและเพื่อรักษาตามแนวทางได้อย่างทันท่วงที

อาการ คันหัวนม คันนม เกิดขึ้นได้จาก ภาวะผื่นแพ้สัมผัส

ผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) ภาวะที่เกิดขึ้นจากผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง อย่าง สารเคมีที่พบได้ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า, ผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น รวมไปถึง น้ำหอม, สบู่, เส้นใยเสื้อผ้า, สภาพอากาศ, น้ำที่มีอุณหภูมิร้อนจนเกินไปหรือเย็นจนเกินไป ที่ส่งผลให้ผิวแห้ง ระคายเคือง มีอาการผื่นแดง มีอาการคันที่หัวนมและบริเวณอื่นๆ ที่มีการสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้อีกด้วย โดยภาวะผื่นแพ้สัมผัสเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไปและพบเจอได้ในทุกเพศ ทุกวัย

วิธีการรักษาผื่นแพ้สัมผัส

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • เลือกใช้ มอยเจอร์ไรเซอร์ ที่มีสารประกอบอย่าง กลีเซอรีน (Glycerin) และ ยูเรีย (Urea) ที่เป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ลดการระคายเคือง
  • ใช้ยารักษาเพื่อบรรเทาอาการคันและป้องกันการติดเชื้อ โดยการใช้ คาลาไมน์ (Calamine), สเตียรอยด์ (Topical Steroid) และ ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน (Antihistamine)
รูปภาพประกอบจาก Freepik

อาการ คันหัวนม คันนม เกิดขึ้นได้จาก การติดเชื้อที่ผิวหนัง

อาการคันหัวนมหรือคันที่บริเวณหน้าอก อาจเกิดขึ้นได้จากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังส่วนหน้าอกติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย โดยการติดเชื้อที่ผิวหนังสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่ผิวหนังแห้งแตกมีบาดแผล ซึ่งอาจนำไปสู่อาการคัน, บวม, ผิวหนังแดง และอาจทำให้มีความรู้สึกเจ็บปวด นอกจากการติดเชื้อที่ผิวหนังจะทำให้เกิดอาการเหล่านี้แล้ว การติดเชื้อที่ผิวหนังยังอาจส่งผลให้เกิดโรคทางผิวหนังอื่นๆ ตามมาได้ เช่น กลาก, เกลื้อน, โรคตุ่มพุพอง, ฝี และโรคไฟลามทุ่ง เป็นต้น

วิธีการรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง

การรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังแพทย์จำกำหนดยารักษา โดยกำหนดตามสาเหตุของการติดเชื้อของผู้ป่วย แบ่งออกได้ดังนี้

  • การรักษาสำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบการรับประทาน, ยาปฏิชีวนะทาเฉพาะที่ และยาปฏิชีวนะฉีดผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์ อาทิเช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin), มิวพิโรซิน (Mupirocin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), และ เตตราไซคลีน (Tetracycline) เป็นต้น
  • การรักษาสำหรับการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคงูสวัด, โรคสะเก็ดเงิน และ โรคเริม เป็นต้น แพทย์อาจกำหนดยาต้านไวรัส อาทิเช่น แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir), อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) และ วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เป็นต้น
  • การรักษาสำหรับการติดเชื้อรา แพทย์อาจฟื้นฟูสภาพผิวหนังด้วยการใช้ครีม, ขี้ผึ้งทาเฉพาะที่ หรือยาต้านเชื้อราในรูปแบบการรับประทาน อาทิเช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole), ไอทราโคนาโซล (Itraconazole), โคลไตรมาโซล (Clotrimazole), เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) และ คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นต้น

อาการ คันหัวนม คันนม เกิดขึ้นได้จาก การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจส่งผลให้รู้สึกคันหัวนม คันนม ได้ เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์สูงขึ้น ทำให้ผิวหนังบริเวณนมและเต้านมขยายใหญ่ขึ้น อาจเกิดรอยแตก และนำไปสู้อาการคัน, แสบร้อน, เจ็บปวด ได้ อีกทั้งในบางรายผิวหนังบริเวณเต้านมอาจมีตุ่มนูน อาจมีผิวแห้ง ผิวเกิดเป็นรอยแดง หรืออาจมีกลากขึ้นได้อีกด้วย

วิธีบรรเทาอาการคันหัวนม คันนม สำหรับสตรีที่มีการตั้งครรภ์

อาการคันที่หัวนม บรรเทาได้ด้วยการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง โดยอาจใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันลาโนลิน (Lanolin) รูปแบบโลชั่น, ครีม หรือขี้ผึ้ง แต่หากอาการคันที่เกิดขึ้นไม่ดีขึ้นหรืออาจมีสัญญาณของการติดเชื้อรา อาทิเช่น คันมาก, ผื่นแดง, ระคายเคือง, แสบ, ผิวหนังเปื่อย ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที

รูปภาพประกอบจาก Freepik

อาการ คันหัวนม คันนม เกิดขึ้นได้จาก ท่อน้ำนมอุดตัน

อาการคันที่หัวนม อาจเกิดจากมีน้ำนมแม่ตกค้างในท่อน้ำนม โดยอาจส่งผลให้ท่อน้ำนมอึดตันจนอาจทำให้ทารกเกิดปัญหาในการดูดนม หรืออาจเกิดจากอาการดูดนมแรงขึ้นจนแม่รู้สึกเจ็บหัวนม เกิดอาการระคายเคือง และมีอาการคันที่หัวนมได้

วิธีการรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

  • ควรทำความสะอาดบริเวณรอบๆ เต้านม และหัวนมอย่างสม่ำเสมอ
  • หมั่นปั๊มนมเพื่อป้องกันภาวะน้ำนมค้างในท่อน้ำนมจนเกิดการอุดตัน
  • แปะแผ่นซิลิโคนแช่เย็น หรือทาครีมลาโนลิน (Lanolin) เพื่อบรรเทาอาการคัน และลดการระคายเคือง

อาการ คันหัวนม คันนม เกิดขึ้นได้จาก การเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน หรือ วัยทอง

เมื่อเพศหญิงเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน หรือ วัยทอง อาจมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ลดลง ซึ่งส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำมันที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวได้ลดลงและอาจนำไปสู้อาการผิวแห้ง ผิวบอบบาง โดยอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย จนเกิดอาการคันที่บริเวณหัวนม และบริเวณต่างๆ ได้

วิธีการบำรุงผิว เพื่อบรรเทาอาการคัน ในวัยหมดประจำเดือน

การบำรุงเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว อาจช่วยลดอาการคันระคายเคืองได้ สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว มอยเจอร์ไรเซอร์ ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ที่ปราศจากน้ำหอมและสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หรือทำให้ผิวหนังมีอาการระคายเคือง

อาการ คันหัวนม คันนม เกิดขึ้นได้จาก โรคมะเร็งที่หัวนม

โรคมะเร็งที่หัวนม (Paget’s disease of the breast) เป็นโรคที่พบได้ยาก และยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเป็นผลมาจากเซลล์มะเร็งเคลื่อนที่ผ่านท่อน้ำนมไปยังบริเวณหัวนมและผิวหนังโดยรอบ จนก่อให้เกิดมะเร็งเกิดขึ้น โดยสามารถสังเกตอาการได้จาก อาการคัน, ลักษณะหัวนมมีความแดง, ผิวหนังที่บริเวณหัวนมเป็นขุย, ความหยาบกร้าน หรืออาจรู้สึกได้ถึงก้อนแข็งใต้ผิวหนัง

วิธีการรักษาโรคมะเร็งที่หัวนม

การรักษามะเร็งที่หัวนม แพทย์จะทำการพิจารณาจากอาการและสภาพผิวหนังบริเวณหัวนม โดยอาจใช้วิธีการผ่าตัด

  • ผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า (Mastectomy) รวมถึงการเอาเนื้อเยื่อไขมัน, ท่อน้ำนม, กล้ามเนื้อที่หน้าอก, ปานนม และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก
  • ผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 เต้า (Double Mastectomy หรือ Bilateral Mastectomy) ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงในการที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายกลับไปยังเต้านมอีกเต้า เช่น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็ง แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 เต้า
  • ผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Lumpectomy) คือ การผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออก โดยที่ยังคงเนื้อเยื่อที่ดีโดยรอบไว้ อาจจำเป็นต้องรักษาควบคู่ไปกับการฉายรังสีหลังจากการผ่าตัด
  • เลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด (Axillary Lymph Node Dissection: ALND) เป็นวิธีการรักษาที่อาจใช้ในกรณีที่พบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ มีความเสี่ยงที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือเป็นการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งซ้ำ
  • ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel Lymph Node Biopsy: SLNB) ผ่าตัดเอาชื้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ที่ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งได้มากที่สุดไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง และหากพบว่าเซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล อาจไม่จำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองอื่นอีก มีความเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ค่อนข้างน้อย

สรุป

อาการ คันหัวนม คันนม เป็นลักษณะอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายโรคด้วยกัน ตั้งแต่โรคที่ไม่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพไปจนถึงโรคที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ หากเมื่อไหร่ก็ตามเกิดอาการคันที่บริเวณหัวนม รู้สึกถึงความผิดปกติของอาการ การเข้ารับการแนะนำ ตรวจหาสาเหตุ โดยแพทย์คือสิ่งสำคัญ เมื่อไหร่ก็ตามที่อาการคันมีอาการที่รุนแรงขึ้นควรรีบเข้าพบแพทย์โดยด่วน เพื่อทำการรักษาตามแนวทางของอาการและโรคต่อไป

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา

Scroll to Top