เชื้อราบนหนังศีรษะ เกิดจาก สาเหตุใด? อาการ วิธีการรักษา (แบบละเอียด!!)

เชื้อราบนหนังศีรษะ หนึ่งในโรคผิวหนังที่สามารถพบได้ที่บริเวณหนังศีรษะ โดยอาจมีสาเหตุมาจากเชื้อรา หรือโรคบางชนิด โดยมักมีอาการคันที่ศีรษะ ตกสะเก็ด เป็นขุย ศีรษะแดง ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ และในบางรายอาการเชื้อราบนหนังศีรษะนอกจากอาการเหล่านี้แล้วอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย และหากมีการปล่อยทิ้งเอาไว้อาจทำให้อาการคันศีรษะมีอาการรุนแรงขึ้น และอาจเกิดแผลบนหนังศีรษะลุกลามไปจนถึงการติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน

เชื้อราบนหนังศีรษะเกิดจากอะไร ?

เชื้อราบนหนังศีรษะ เกิดจาก เชื้อราที่บริเวณหนังศีรษะมีการเจริญเติบโตมากจนผิดปกติ และส่งผลต่อการผลัดตัวของเซลล์ผิวหนัง จนทำให้เกิดเป็นลักษณะของขุยสีขาว โดยอาจมีอาการคัน มีผื่นแดง และมีอาการระคายเคืองที่บริเวณหนังศีรษะ ซึ่งเชื้อราบนหนังศีรษะอาจมีสาเหตุเกิดขึ้นได้จากโรคผิวหนังบางชนิด กล่าวคือ

  • โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea capitis) หรือ โรคกลากชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อราไตรโคไฟตอน (Trichophyton) โดยมักทำให้เกิดอาการคัน บริเวณศีรษะเกิดเป็นสะเก็ด ศีรษะล้านเป็นหย่อมๆ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสของใช้ส่วนตัวของผู้ที่มีอาการเป็นโรคกลาก อาทิเช่น ชุดเครื่องนอน, เสื้อผ้า, หมวก, หวี, ผ้าเช็ดตัว
  • โรครูขุมขนอักเสบ จากเชื้อรา (Malassezia Folliculitis) หรืออีกหนึ่งชื่อเรียก “สิวยีสต์” โดยโรคนี้มักเกิดจากเชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่มมาลาสซีเซีย โดยทำให้มีอาการรูขุมขนอักเสบหรือมีการติดเชื้อที่รูขุมขน มีลักษณะเป็นตุ่มหนองเล็กๆ ขึ้นเป็นหย่อมๆ ในบางครั้งอาจพบร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียสิว (P.acnes) ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เองโดยที่ไม่ต้องรักษา
  • โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) ภาวะต่อมไขมันในชั้นผิวหนังเกิดการอักเสบ โรคที่มีสาเหตุการเกิดที่ยังไม่แน่ชัด โดยอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยการกระตุ้นบางอย่าง อาทิเช่น การติดเชื้อยีสต์, การติดเชื้อมาลาสซีเซีย, ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน, อากาศร้อน, ฮอร์โมนความเครียด เป็นต้น
  • โรคเชื้อราแคนดิดา (Candida infection) การติดเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) บนหนังศีรษะ

โรคผิวหนังเหล่านี้เป็นโรคที่มักพบเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราบนหนังศีรษะ และนอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดเชื้อราบนหนังศีรษะด้วยเช่นเดียวกัน

รูปภาพประกอบจาก Freepik

เชื้อราบนหนังศีรษะ อาการ เป็นลักษณะอย่างไร?

อาการของโรคเชื้อราบนหนังศีรษะอาจมีอาการแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรคที่เป็นสาเหตุในการเกิดเชื้อรา โดยอาการเชื้อราบนหนังศีรษะอาจมีลักษณะอาการ ดังนี้

  • ลักษณะอาการของเชื้อราบนหนังศีรษะที่มีสาเหตุมาจากโรคกลาก อาจมีอาการเริ่มที่การเกิดตุ่มหรือแผลเล็กๆ ที่บริเวณหนังศีรษะ ก่อนที่จะมีลักษณะเป็นขุยหรือเกร็ด โดยอาจมีผื่นแดงลักษณะเป็นปื้น มีตุ่มคัน และอาจมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ
  • ลักษณะอาการของเชื้อราบนหนังศีรษะที่มีสาเหตุมาจากโรครูขุมขนอักเสบ มีตุ่มแดงหรืออาจมีตุ่มหนองเล็กๆ ขึ้นรอบบริเวณรูขุมขน หนังศีรษะมีอาการแสบคัน และมีแผลลักษณะตกสะเก็ดที่บริเวณหนังศีรษะ
  • ลักษณะอาการของเชื้อราบนหนังศีรษะที่มีสาเหตุมาจากโรคเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะอาจมีลักษณะมันเยิ้ม หรืออาจมีลักษณะผิวแห้งลอกจนเกิดเป็นขุยขาวจำนวนมากที่บริเวณไรผม และอาจมีรอยแดง ผื่นคัน หรือเกิดเป็นสะเก็ดบนผิวหนังร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด เชื้อราบนหนังศีรษะ

  1. โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Diseases)
  2. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาทิเช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และ ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิด
  3. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
  4. ความเครียด
  5. การฟื้นตัวจากภาวะสุขภาพ
  6. ภาวะทางระบบประสาทและจิตเวช อาทิเช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
  7. หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ BMI และผู้ที่มีเหงื่อออกมาก
  8. สภาพอากาศร้อนชื้นที่เพิ่มความอับชื้นที่บริเวณหนังศีรษะ
  9. สุขอนามัยที่ไม่ดี
  10. การสัมผัสผิวหนัง, สิ่งของ หรือการสัมผัสสัตว์ที่มีการติดเชื้อ
รูปภาพประกอบจาก Freepik

วิธีการรักษา เชื้อราบนหนังศีรษะ รักษายังไง ?

การรักษาอาการเชื้อราบนหนังศีรษะ อาจรักษาได้ตามสาเหตุอาการของโรคที่ทำให้เกิดเชื้อรา หากอาการเชื้อราที่เกิดขึ้นมีอาการที่รุนแรงควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาโดยแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

  • โรคกลาก สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา อาทิเช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) และ กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อราบนศีรษะ โดยรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างต่อเนื่อง สามารถรับประทานควบคู่กับการใช้แชมพูต้านเชื้อรา เพื่อลดการกระจายเชื้อสู่ผู้ใกล้ชิดได้
  • โรคเซ็บเดิร์ม สามารถรักษาได้ด้วยการใช้แชมพูขจัดรังแคที่อาจมีส่วนผสมของ คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) และ กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) อีกทั้งยังสามารถบรรเทาอาการคันด้วยการใช้แชมพูที่มีซิงค์ไพริไทออน (Zinc pyrithione) และ ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium sulfide)
  • โรคเชื้อราแคนดิดา อาจสามารถรักษาได้ด้วยแชมพู, โฟม หรือครีมต้านเชื้อราที่มีส่วนผสมของโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) หรือ คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ควบคู่ไปกับการดูแลหนังศีรษะและเส้นผมให้คงความแห้งและความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อราซ้ำ

แนวทางการป้องกันการเกิด เชื้อราบนหนังศีรษะ

วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการป้องกันการเกิดเชื้อราที่สามารถทำควบคู่ไปพร้อมกับการรักษาอาการเชื้อราบนหนังศีรษะด้วยวิธีด้านบน อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราซ้ำได้

  • ควรทำการสระผมอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เพื่อเป็นการลดการสะสมของไขมันและลดการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายไปแล้วบนหนังศีรษะ
  • ควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผมหรือแชมพูที่เหมาะกับสภาพหนังศีรษะและเส้นผมที่มีความอ่อนโยน
  • ไม่ควรปล่อยให้หนังศีรษะเปียกชื้นเป็นระยะเวลายาวนาน หลังการอาบน้ำและสระผมควรทำเช็ดผมและหนังศีรษะให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อราและป้องกันการเกิด รังแค
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรา อาทิเช่น หวี, เสื้อผ้า, ผ้าขนหนู, หมวก, หมวกกันน็อค เป็นต้น
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีการสัมผัสกับบริเวณที่อาจเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค เช่น ห้องน้ำ, ลูกบิด, ประตู เป็นต้น รวมไปถึงเมื่อมีการสัมผัสสัตว์เลี้ยง
  • รักษาความสะอาดที่พักอาศัยอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรค
  • หมั่นพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพผิว เพื่อตรวจเช็คการติดเชื้อราในสัตว์

สรุป

อาการเชื้อราบนหนังศีรษะ เป็นหนึ่งในโรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะการติดเชื้อราบางชนิด หรืออาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคกลาก, โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา, โรคเซ็บเดิร์ม และโรคเชื้อราแคนดิดา เป็นต้น โดยเชื้อราบนหนังศีรษะนั้นเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงแต่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการนอนหลับ และอาจเป็นหนึ่งในลักษณะอาการที่อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจได้เช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ที่มีอาการเชื้อราบนหนังศีรษะสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการตามที่มีการกล่าวมาในข้างต้น ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความสะอาดของหนังศีรษะและเส้นผม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างที่อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อราบนหนังศีรษะ หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อราซ้ำ สำหรับผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงควรหมั่นพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพ รักษาความสะอาดสัตว์เลี้ยงและที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อรา แต่หากอาการลุกลามหรือมีความรุนแรงควรรีบเข้าพบแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาตามแนวทางที่เหมาะสมและถูกต้องในทันที

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา

Scroll to Top